Knowledge

แนวโน้มหลายองค์กรต่ออายุเกษียณของผู้บริหารระดับสูง ชี้สร้างไม่ทัน-ชำนาญการไม่พอ

โพสต์เมื่อ 9 กรกฎาคม 2558

ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่าปัจจุบันเรื่องของเกษียณอายุงานกลายเป็นปัญหาขององค์กรอย่างหนึ่งเพราะอย่างที่ทุกคนทราบดีว่าผู้บริหารระดับสูงที่อยู่ในยุคเบบี้บูมเมอร์ (2489-2507) กำลังลงจากตำแหน่ง

โดยเฉพาะในช่วง 1-5 ปีต่อจากนี้

มองเผิน ๆ เหมือนไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะจะได้เป็นการถ่ายเลือดให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทน แต่ถ้ามองในรายละเอียดจะพบว่าการที่ผู้บริหารระดับสูงทยอยเกษียณอายุ กลับสร้างปัญหาปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับองค์กรอย่างมาก

เพราะองค์กรไม่สามารถหาผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถมีวิสัยทัศน์กว้างไกลขึ้นมาทดแทน เนื่องจากปัจจุบันเกมการแข่งขันในเชิงธุรกิจค่อนข้างดุเดือด

หากผู้บริหารระดับสูงไม่มีความรอบคอบเพียงพอโอกาสเพลี่ยงพล้ำมีสูงได้

ผลเช่นนี้ จึงทำให้หลายองค์กรเลือกต่ออายุงานให้กับผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้ผู้บริหารเหล่านั้นอยู่คอยช่วยเหลือ หรือช่วยพยุงองค์กรไปก่อน จนกว่าจะหาผู้บริหารคนใหม่ขึ้นมาทดแทน

ไม่ว่าจะเป็นการต่ออายุงาน 1 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี

ทั้งนั้นแล้วแต่เงื่อนไขที่จะตกลงกัน



กล่าวกันว่า เรื่องของการต่ออายุเกษียณไม่จำเพาะอยู่ประเทศไทยเท่านั้น หากในต่างประเทศแนวโน้มการต่ออายุเกษียณเริ่มมีมากขึ้นในหลายประเทศ และไม่เฉพาะแต่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น

ตำแหน่งทักษะทางด้านแรงงานก็มีแนวโน้มต่ออายุเกษียณ

เหมือนอย่างที่บริษัททาวเวอร์ส วัทสัน ทำการสำรวจเรื่องทัศนคติด้านสวัสดิการทั่วโลกประจำปี 2013-2014 พบว่าตลอดช่วง 3-4 ปีผ่านมา พนักงานทั่วโลกมีแนวโน้มเกษียณอายุช้าลง โดยเฉพาะประเทศเนเธอร์แลนด์ 70% ต้องการเกษียณช้าลง หลังจากเพิ่มเกณฑ์อายุเกษียณไปก่อนหน้า 

ขณะที่ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา ต้องการเกษียณอายุงานเฉลี่ยช้าลง 5 ปี, แคนาดา, ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร 4 ปี ส่วนเยอรมนี ต้องการเกษียณอายุงานช้าลงประมาณ 3 ปี

สาเหตุสำคัญคือขาดแคลนผู้สืบทอดตำแหน่ง

โดยเรื่องนี้ เมื่อดูข้อมูลที่ "พิชญ์พจี สายเชื้อ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาวเวอร์ส วัทสัน (ประเทศไทย) เคยแสดงความคิดเห็นผ่านบทความ เธอบอกว่าแผนสืบทอดตำแหน่งไม่เหมือนกับแผนทดแทน เพราะแผนทดแทนทำเป็นครั้ง ๆ เมื่อมีคนเกษียณ ลาออก หรือไม่สามารถทำงานได้ แต่แผนสืบทอดตำแหน่งทำตั้งแต่ยังมีผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ เพื่อป้องกัน หรือบริหารจัดการความเสี่ยงในอนาคต (ในกรณีไม่มีผู้บริหารบริหารงาน และงานไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ) ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาผู้ที่จะสืบทอดตำแหน่งด้วย 

"การวางแผนสืบทอดตำแหน่งทำได้ 2 แบบ คือ แบบที่เรียกว่า Name to Box หมายถึง การวางแผนสืบทอดตำแหน่งเฉพาะเจาะจง เช่น หา Successor สำหรับตำแหน่ง CEO, CFO, COO เป็นการเฉพาะ เป็นต้น วิธีนี้ปกติจะทำสำหรับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง กับอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า Talent Pool หมายถึง การวางแผนสืบทอดเป็นกลุ่มโดยเฉพาะเจาะจงตำแหน่ง เมื่อตำแหน่งไหนว่าง ก็มาดูใน Talent Pool จากนั้นก็เลือกหาคนที่เหมาะสม วิธีนี้จะใช้สำหรับหาตำแหน่งผู้บริหารรองลงมา"

แต่กระนั้นในทางปฏิบัติคงขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรด้วยว่าจะมีการสร้างผู้สืบทอดตำแหน่งและกลุ่มคนที่มีความสามารถมากน้อยแค่ไหนเพราะถ้าองค์กรมีการวางแผนมาดี ในส่วนของผู้สืบทอดตำแหน่ง หรือกลุ่มคนที่มีความสามารถจะมีให้เลือกสรรเยอะ ทั้งยังสามารถสรรหาบุคลากรเข้ามาทดแทนตำแหน่งทันทีโดยไม่ยาก

แต่ถ้าไม่มีการเตรียมการเลย นอกจากจะทำให้ผู้บริหารระดับสูงที่มีความชำนาญไม่เลือกต่ออายุเกษียณในองค์กรของตน ยังอาจทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ไปอยู่กับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีทุนหนา ที่พร้อมจะนำองค์ความรู้ของผู้บริหารระดับสูงไปปรับใช้ในเกมธุรกิจ

ซึ่งเหมือนกับ "นนทิกร กาญจนะจิตรา" เลขาธิการ ก.พ. ที่สะท้อนให้ฟังว่า เมื่อสัก 2 ปี เรามองเห็นปัญหาการขาดแคลนตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในแวดวงราชการ โดยเฉพาะตำแหน่งผู้ชำนาญการทางด้านศิลปวัฒนธรรม เกษตร ปศุสัตว์ และอื่น ๆ

"จึงเกิดความคิดว่าตำแหน่งเหล่านี้เราจะต้องเตรียมการขอต่ออายุราชการ เพียงแต่เรื่องนี้ต้องประสานงานกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และอื่น ๆ กระทั่งล่าสุดทางสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตั้งคณะปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เนื่องจากปีนี้จะมีข้าราชการระดับสูงในตำแหน่งปลัดกระทรวง, ผู้ว่าราชการจังหวัด, อธิบดี, นักการทูต เกษียณอายุราชการประมาณ 100 กว่าคน"

"ที่น่าสนใจคือข้าราชการระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาเกษตร ปศุสัตว์ ส่วนใหญ่จะถูกบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ประกอบธุรกิจการเกษตรและอาหาร ชักชวนไปอยู่ด้วย เพราะนอกจากจะไปเติมเต็มองค์ความรู้ให้แก่บริษัทเหล่านั้น ยังได้รับค่าตอบแทนค่อนข้างดีด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่ประการใด เพราะบุคลากรเหล่านี้เป็นผู้มีองค์ความรู้ทั้งสิ้น"

"นนทิกร" จึงมองว่า การต่ออายุราชการให้กับข้าราชการระดับบริหารมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะบุคลากรเหล่านี้ส่วนใหญ่ผ่านการเป็นนักเรียนทุนของรัฐบาลมาก่อน เปรียบเสมือนเป็นหัวกะทิระดับประเทศ เมื่อเราไม่ต่ออายุราชการให้กับเขา ก็เท่ากับสูญเสียบุคลากรชั้นดีของประเทศไปในก่อนวัยอันควร

แล้วอย่างนี้ ทุกคนจะอยู่เฉยได้อย่างไร?

Credit: prachachat.net